สถานะเว็บไซต์

จำนวนผู้เข้าชม

1,948,532

จำนวนผู้ใช้งานขณะนี้

2

www.aodliumtong.com

ประวัติคณาจารย์

หลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง

หลวงปู่สิน วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่

ข้อมูลประวัติ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง เชียงใหม่

เกิด                     วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2452  ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เวลา 21.00 น.  พื้นเพเป็นชาว พรรณานิคม สกลนคร  เป็นบุตรของ นายสาน  นางสิงห์คำ  วงศ์เข็มมา

บรรพชา                อายุ 18 ปี ณ วัดสามผง (วัดศรีสงคราม) ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 2470

อุปสมบท              วันที่ 16 กรกฎาคม 2472  ณ พัทธสีมาวัดจันทราวาส อ.เมือง ขอนแก่น   จำพรรษาอยู่ที่วัดเลางา (วัดวิเวกธรรม)  ท่านเป็นพระกัมมัฏฐานจาริกแสวงหาความสงบวิเวกไปตามสถานที่  และจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ มากมาย  จนในที่สุด วันที่ 13 มกราคม 2492  จึงสร้างวัดสันติธรรม ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ปี 2509  และได้เป็นเจ้าอาวาสพร้อมกัน 3 วัด คือ วัดสันติธรรม  วัดอโศการาม  วัดป่าสุทธาวาส

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

          ท่านมีนามเดิมว่า สิม วงศ์เข็มมา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ที่บ้านบัว ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาท่านชื่อ นายสาน วงศ์เข็มมา มารดาชื่อ นางสิงห์คำ วงศ์เข็มมา มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๕

          สกุล "วงศ์เข็มมา" เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัว ผู้เป็นต้นสกุลได้แก่ ขุนแก้ว และ อิทปัญญา ผู้เป็นน้องชาย ตัวท่านขุนแก้วคือปู่ของหลวงปู่สิมนั่นเอง

          ท้าวความ ในคืนที่หลวงปู่เกิดนั้นประมาณเวลา ๑ ทุ่ม โยมมารดาของท่านเคลิ้มหลับไป ก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง มีรัศมีกายสุกสว่าง เปล่งปลั่ง แลดูเย็นตาเย็นใจ อย่างบอกไม่ถูก ลอยลงมาจากท้องฟ้าลงสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาของนาง ต่อมาเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางสิงห์คำก็ให้กำเนิดเด็กน้อยผิวสะอาด และจากนิมิตที่นางเล่าให้นายสานฟัง นายสานผู้เป็นบิดาจึงได้ตั้งชื่อลูกชายว่า "สิม" ซึ่งภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ อันอาจบ่งบอกถึงความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาเด็กชายสิมผู้นี้ ก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ บำเพ็ญสมณธรรม ใช้ชีวิตที่ขาวสะอาดหมดจดตลอดชั่วอายุขัยของท่าน

          เมื่อเริ่มเข้ารุ่นหนุ่ม อายุ ๑๕-๑๖ ปี ท่านมีความสนใจในดนตรีอยู่ไม่น้อย หลวงปู่แว่น ธนปาโล เล่าว่า ตัวท่านเองเป็นหมอลำ ส่วนหลวงปู่สิมเป็นหมอแคน สิ่งบันดาลใจ ให้หลวงปู่อยากออกบวช คือความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า

          "ตั้งแต่ยังเด็กแล้วเมื่อได้เห็น หรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง กลัวว่าเราจะตายเสียก่อน ได้ออกบวช"

          มรณานุสติได้เกิดขึ้นในใจของท่านอยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ำเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความตาย

          เป็นเพราะหลวงปู่กำหนด "มรณํ เม ภวิสฺสติ" ของท่าน มาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกบวชจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน หลวงปู่ก็ยังใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้ อบรมลูกศิษย์ลูกหา อยู่เป็นประจำ เรียกว่า หลวงปู่เทศน์ครั้งใดมักจะมี "มรณํ เม ภวิสฺสติ" เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้ง

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

          เมื่อท่านอายุ ๑๗ ปี ได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัวนั้นเอง ตรงกับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ตรงกับ วันอาทิตย์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง โดยมี พระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

          ต่อมาคณะกองทัพธรรมของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินธุดงค์มาจากหนองคาย เพื่อมาเผยแพร่ธรรมปฏิบัติ แก่ประชาชน โดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สามเณรสิม จึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรม ทั้งจากพระอาจารย์ใหญ่ คือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล

          สามเณรสิมได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติ ของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น และได้บังเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น และได้ขอญัตติใหม่ มาเป็นธรรมยุติกนิกาย แต่โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์ของวัดฝ่ายธรรมยุติในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทำที่โบสถ์น้ำ ซึ่งทำจากเรือ ๒ ลำ ทำเป็นโป๊ะลอยคู่กัน เอาไม้พื้นปูตรึงเป็นพื้น แต่ไม่มีหลังคา สมมติเอาเป็นโบสถ์ โดยท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นประธาน และเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ที่วัดป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

          จากนั้นสามเณรสิมได้ติดตามพระอาจารย์มั่น ไปอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า ตำบลบ้านข่า อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

          เมื่อสามเณรสิมอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็ง โดยมีเจ้าคุณเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "พุทฺธาจาโร"

          จากนั้นท่านก็ได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ของท่าน คือพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

          วัดป่าบ้านเหล่างานี้เป็นวัดอยู่ในเขตป่าช้า (บริเวณโรงพยาบาลขอนแก่นในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นสำนัก อบรมกรรมฐานแก่ญาติโยมชาวขอนแก่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้ออกอุบายสอนลูกศิษย์ของท่าน ให้ได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจากซากศพและว่า

          "นี่แหละร่างกายนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนให้กำหนดเป็นอสุภกรรมฐาน อย่าไปเห็นว่ารูป ไม่ว่ารูปหญิงรูปชาย ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครสวยใครงามกว่ากัน"

"สมมติโลกว่าสวยว่างามสมมติธรรมมันไม่สวยงาม อสุภํ มรณํ ทั้งนั้น ถึงมันจะยังไม่ตายตอนเด็กตอนหนุ่มก็เถอะ ไม่นานละ เดี๋ยวมันก็ทยอยตายไปทีละคน สองคน หมดไป สิ้นไป ไม่เหลือ"

          ในชีวิตสมณะของท่านได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า "โสสานิ กังคะ" คือไปเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงควัตร และที่วัดป่าเหล่างานี้เอง ที่หลวงปู่ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิด กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเวลานาน ๓-๔ ปี ทั้งได้มีโอกาสมักคุ้น กับพระกรรมฐานองค์สำคัญ ๆ หลายองค์ เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ , ท่านพ่อลี ธมฺมธโร , ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นต้น
 
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม

          วัตถุมงคล ที่ลูกศิษย์ลูกหาจัดสร้าง เพื่อหาทุนทรัพย์ไปสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ และท่านเมตตาปลุกเสกให้นั้นมีอยู่มากมายหลายรุ่น หลายชนิด เช่น เหรียญรุ่นพิเศษ  เหรียญเมตตา เนื้อนวะ ปี 2517  พระปรกใบมะขาม ร่นแรก ปี 2518  เป็นต้น

พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา

          พุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทาง  เมตตามหานิยม

ผู้ชม : 978

< ย้อนกลับ