ข้อมูลประวัต พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ที่บ้านม่วงไข่ ต.พรรณนา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นบุตรของ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ในตระกูล "สุวรรณรงค์" ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองพรรณานิคมมาก่อน
มารดาของพระอาจารย์ฝั้นชื่อ "นุ้ย" บุตรของ "หลวงประชานุรักษ์" มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน พระอาจารย์ฝั้นเป็นบุตรคนที่ 4 สมัยเป็นเด็กท่านเป็นคนอ่อนโยน เรียบร้อยนิสัยใจคอเยือกเย็น มีความขยันหมั่นเพียร และสู้งานทุกอย่าง ช่วยเหลือบิดามารดาเป็นอย่างดี
การศึกษาขั้นต้น ท่านได้เรียนหนังสือที่วัดโพธิชัย ในบ้านม่วงไข่นั่นเอง ท่านเรียนหนังสือเก่งและแตกฉานมาก ต่อมาได้ไปอยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ ผู้เป็นพี่เขย ซึ่งเป็นปลัดเมืองอยู่ที่ขอนแก่นได้เรียนหนังสือต่อจนจบการศึกษา มีความคิดว่าจะเข้ารับราชการ แต่ได้เปลี่ยนใจเสียก่อนเพราะในระหว่างที่อยู่กับพี่เขยนั้น พี่เขยได้เคยใช้ให้เอาปิ่นโตไปส่งให้นักโทษคนหนึ่งคือพระยาณรงค์ ซึ่งเป็นถึงเจ้าเมืองขอนแก่น ต้องโทษฐานฆ่าคนตาย นอกจากนี้ก็มีข้าราชการใหญ่อีกหลายคนที่ต้องติดคุกอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อพี่เขยถูกย้ายไปจังหวัดเลย ท่านก็ไปเยี่ยม ก็ไปพบว่าพี่เขยของท่านซึ่งเป็นถึงปลัดก็เกิดไปติดคุกอยู่ที่จังหวัดเลย ในข้อหาฆ่าคนตายเหมือนกัน ท่านได้ประสบเหตุการณ์อย่างนี้เข้าก็สลดหดหู่ใจไม่ได้ คนใหญ่คนโตยังต้องติดคุกเช่นนี้จึงหมดอาลัยที่จะเข้ารับราชการตามความคิดฝันมาก่อน
จากนั้นท่านก็เดินทางกลับมาพรรณานิคมแล้ว บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ในระหว่างเป็นสามเณรท่านได้เอาใจใส่ศึกษาพระธรรม และเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง พออายุครบ 20 ปี ก็ได้ อุปสมบทที่วัดสิทธิบังคม บ้านไร่ อ.พรรณานิคม โดยมี พระครูป้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับพระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกันพระครูป้องก็ได้สอนกัมมัฎฐานให้ด้วย พอออกพรรษาในปีนั้น ท่านได้ออกเดินธุดงค์ติดตาม ท่านพระครูธรรม เจ้าอาวาสวัดโพนทอง เป็นการฝึกหัดกัมมัฏฐานไปด้วย
พ.ศ. 2463 เดือน 3 พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาที่วัดบ้านม่วงไข่ ได้แสดงธรรมเทศนาให้ชาวบ้านฟัง พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ไปฟังอยู่ด้วย เกิดความประทับใจในพระธรรมที่พระอาจารย์มั่นแสดง เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระอาจารย์มั่นเป็นอย่างที่สุด จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นโดยทันที โดยมีท่านอาญาครูดี กับพระอาจารย์กู่ รวมอยู่ด้วย แต่พระอาจารย์มั่นไม่ได้รับทั้ง 3 ร่วมเดินธุดงค์ไปด้วย เพราะทั้ง 3 ยังไม่พร้อมในเครื่องบริขาร และยังไม่มั่นใจว่าทั้ง 3 จะเอาจริง ๆ จึงบอกให้ติดตามไปหาภายหลัง พระอาจารย์มั่นจึงเดินธุดงค์ไปก่อน
หลังจากที่ได้เตรียมเครื่องบริขารเรียบร้อยแล้ว ทั้ง 3 ก็ออกเดินติดตามพระอาจารย์มั่นไปได้ไปพบกับพระอาจารย์ดุลย์ ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ ซึ่งก็กำลังติดตามหาพระอาจารย์มั่นเช่นกัน พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ขอศึกษาธรรมเบื้องต้นจากพระอาจารย์ดุลย์ ซึ่งได้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นมาก่อนแล้ว จากนั้นทั้ง 4 จึงได้ออกติดตามพระอาจารย์มั่นกันต่อไป และได้ไปพบกับพระอาจารย์มั่น ที่บ้านตาลโกน อ. สว่างแดนดิน ได้ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรกในวันนั้น เป็นเวลา 3 วัน
หลังจากนั้นพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ไปพบ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีลเกระ ที่บ้านหนองดินดำซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการเผยแพร่พระธรรมร่วมกับพระอาจารย์มั่นมาตลอด พระอาจารย์ฝั้นได้รับการอบรมจากพระอาจารย์เสาร์เพิ่มเติม จากนั้นก็ได้ไปกราบ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคมโม ที่บ้านหนองวาย ได้รับการอบรมธรรมจากพระอาจารย์สิงห์ กำลังสำคัญของพระอาจารย์มั่นท่านหนึ่ง หลังจากนั้นมา พระอาจารย์ฝั้นก็ได้มีโอกาสรับการอบรมธรรมจากพระอาจารย์มั่นเป็นประจำเสมอมา ได้ฝึกกัมมัฏฐานจนพลังจิตแก่กล้าขึ้นเรื่อย ๆ และมั่นคงแน่วแน่ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรค ในที่สุดท่านจึงได้ตัดสินใจทำการ แปรญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ณ วัดโพธิ์สมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจารย์พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากทำการญัตติกรรมแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็ได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ร่วมกับพระอาจารย์อื่น ๆ อีกหลายท่าน พอออกพรรษาพระอาจารย์มั่นก็ได้แบ่งสายกันออกเดินธุดงค์ พระอาจารย์ฝั้นได้มุ่งหน้าไปทางบ้านนาบง แล้วเลียบไปกับฝั่งโขง เข้าศรีเชียงใหม่ หินหมากเป้ง บ้านผักบุ้ง พระพุทธบาทบัวบก อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แล้วจึงกลับมายังวัดอรัญวาสี อ.ท่าบ่อ ทราบว่าพระอาจารย์มั่นไม่อยู่ ได้ออกเดินธุดงค์ไปทางวาริชภูมิ จ.สกลนคร พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ออกติดตามไป เพราะมีความตั้งใจว่าพรรษานี้จะอยู่กับพระอาจารย์มั่นอีก จึงไปพบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านสามผง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
ในปี พ.ศ. 2469 พระอาจารย์ฝั้นพร้อมกับพระภิกษุอื่นๆ ทำการบัตติกรรมในโบสถ์น้ำอีกครั้งหนึ่ง ตามพระธรรมวินัย โดย ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ฝั้นได้ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ตามหน้าที่ที่พระอาจารย์มั่นได้มอบหมายให้ หลังจากออกพรรษาแล้วก็ได้ร่วมกันออกเผยแพร่ธรรม โดยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเอาโยมมารดาของพระอาจารย์มั่น(นางจันทร์)ไปอุบลราชธานีด้วย
ในปีนี้พระอาจารย์ฝั้นก็ได้จำพรรษาที่บ้านบ่อชะแนง อ. หัวตะพาน จ.อุบลราชธานีช่วยพระอาจารย์กู่เทศนาสั่งสอนญาติโยม จนชาวบ้านเกิดศรัทธาเลื่อมใสแนวปฏิบัติของพระกัมมัฎฐานนี้มาก โดยปกติพระกัมมัฎฐานในสายนี้ได้รับการต่อต้านจากผู้ไม่เข้าใจในแนวปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง มีการขับไล่ไสส่ง หาว่าเป็นพระเถื่อนก็มี แต่ในที่สุดเมื่อรู้ความจริง ต่างก็ยอมรับนับถือ และเลื่อมใสไปตาม ๆ กัน
พ.ศ. 2471 อันเป็นพรรษาที่ 4 ของพระอาจารย์ฝั้น ท่านได้จำพรรษาที่หนองน่องบ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม ออกพรรษาแล้วก็ได้กลับมาที่อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานีอีกครั้งร่วมกับพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ว่าจะไป จ.ขอนแก่น เพื่อช่วยท่านเจ้าคุณพระพิศาล เจ้าคณะธรรมยุตขอนแก่น ในการเดินทางครั้งนี้พระอาจารย์ฝั้น ได้แวะเยี่ยมญาติโยมที่บ้านพรรณานิคมด้วย แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังจังหวัดขอนแก่น พบกับพระอาจารย์สิงห์ตามที่นัดกันไว้ที่วัดเหล่าเงา (วัดวิเวกธรรม) ต.โนนทัน อ.พระลับ มีพระในคณะประมาณ 70 รูป ได้แบ่งกำลังกันออกเผยธรรม จัดตั้งสำนักสงฆ์แบบวัดป่าขึ้นในจังหวัดขอนแก่นหลายแห่ง สอนชาวบ้านให้เลิกกลัวผี และยึดเอาไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ในพรรษาปี 2472 นี้ พระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านผือ ต. โนนทัน ได้ขจัดปัดเป่าความทุกข์ร้อนของชาวบ้านอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของภูติฝีปีศาจ ที่ชาวบ้านกลัวกันมาก พระอาจารย์ฝั้น ก็ได้สอนธรรมให้ จนเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านมาก
พ.ศ. 2473 ก็ได้จำพรรษาที่บ้านผือ พอออกพรรษาแล้วก็ธุดงค์ไปหนองหาน จ.อุดรธานี พ.ศ. 2474 (พรรษาที่ 7 ) พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาที่ภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ในระหว่างพรรษานี้พระอาจารย์ฝั้นมีอาการอาพาธ ได้รับความทุกข์ทรมานมาก จึงตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะนั่งภาวนาทำความเพียรไปจนมรณภาพ ท่านนั่งภาวนาเป็นเวลานานมากกว่า 15 ชั่วโมงติดต่อกัน และเมื่อถอนจิตออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกตัวเขา อาการไม่สบายก็หายไป ว่ากันว่าในตอนนี้ท่านได้สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
พอออกพรรษาพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ออกธุดงค์ไปพบพระอาจารย์สิงห์ที่ อ.น้ำพองได้รับการขอร้องจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เจ้าคณะมณฑลอีสาน ให้นำคณะกัมมัฎฐานไปเผยแพร่ธรรมที่ จ.นครราชสีมา พระอาจารย์ฝั้นก็ไปในคณะนี้ด้วย ได้พักที่วัดสุทธิจินดา อ.เมือง นครราชสีมา ในโอกาสนี้ได้มีการมอบที่ดินสำหรับสร้างวัดป่าสาลวันแก่พระกัมมัฏฐานนี้ด้วย
หลังจากนั้น พระอาจารย์ฝั้นก็ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกโดยมากับพระอาจารย์สิงห์ และพระมหาปิ่น เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส พักอยู่ได้ 3 เดือนพระอาจารย์ฝั้นก็ได้เดินทางกลับไปยังนครราชสีมา จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ในพรรษาที่ 8 ของท่าน (พ.ศ. 2475) จากนั้นเป็นต้นมาพระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่ในวัดในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดยตลอดมา คือพรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2476-2477) ท่านได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่ ต.พลสงครามในป่าช้า แล้วจำพรรษาที่นั่นและสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่ปักธงไชยอีกแห่งหนึ่ง ในพรรษาที่ 10 ท่านได้จำพรรษาที่โนนสูง พอออกพรรษาแล้ว ก็ได้เดินธุดงค์ไปทางดงพญาเย็น ได้ผจญกับสิ่งแปลก ๆ ต่าง ๆ นานา
ปี พ.ศ. 2479 พระอาจารย์ฝั้นได้ออกเดินทางจากนครราชสีมา มุ่งหน้าไปยังเชียงใหม่พร้อมกับพระอาจารย์อ่อน เพื่อจะติดตามมหาพระอาจารย์มั่น ไปพบพระอาจารย์มั่นที่วัดเจดีย์หลวง และเดินทางกลับนครราชสีมาในปีรุ่งขึ้น (2480) และได้จำพรรษาอยู่ที่นครราชสีมาตลอดมา
หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2486 พระอาจารย์ฝั้นได้ธุดงค์ออกจากวัดป่าศรัทธารวมไปเขาพนมรุ้ง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ แล้วเดินทางต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์ พอเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2487 ก็ได้ไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี เพื่อช่วยรักษาพยาบาลสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) ด้วยธรรมโอสถ จนสมเด็จฯ หายเป็นปกติ ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างยิ่ง
ในขณะเดียวกันก็ได้พยาบาลรักษาพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งอาพาธด้วยโรคปอดด้วย จนพระอาจารย์มหาปิ่นหายเป็นปกติเช่นกัน ในระยะนี้เป็นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรได้บินมาทิ้งระเบิดตามจุดต่าง ๆ ที่มีทหารญี่ปุ่นอยู่ ในจังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์ฝั้นก็สามารถล่วงรู้ได้ว่า เวลาใดที่เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิด ก็จะบอกให้พระเณรชาวบ้านรีบหลบภัย ยังความแปลกใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดพระอาจารย์ฝั้นจึงมีความสามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าได้?
ออกพรรษาปี 2487 พระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางกลับสกลนคร ระหว่างทางได้พักที่วัดป่าเกาะแก้ว อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้กราบนมัสการพระธาตุพนมด้วย ออกจากธาตุพนมมุ่งหน้าไปยังนาแก พักที่วัดนาแก แล้วมาพักที่วัดป่านาโสก จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังวัดป่าบ้านนามน อ.เมือง จ.สกลนคร แล้วไปยังวัดป่าสุทธาวาส พักอยู่ 3 คืนแล้วจึงเดินทางต่อไปยังอำเภอพรรณานิคม ถึงบ้านบะทอง อันเป็นบ้านเกิดของท่าน พักที่วัดบ้านบะทอง 1 คืน รุ่งขึ้นพระอาจารย์ฝั้นก็ไปพักที่ป่าช้าใกล้ ๆ กับหนองแวง ต่อมาสถานที่แห่งนี้ก็ได้กลายเป็น "วัดป่าอุดมสมพร" จนบัดนี้
ปี พ.ศ. 2488 พระอาจารย์ฝั้นจำพรรษาที่วัดป่าธาตุนาเวง สกลนคร ได้บูรณะจนดีขึ้น และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น"วัดป่าภูธรพิทักษ์" อันเป็นวัดหนึ่งที่พระอาจารย์ฝั้นเป็นเจ้าอาวาสด้วย ท่านได้จำพรรษาต่อมาหลายพรรษา ได้ถือโอกาสไปปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์มั่นตามโอกาส ตามวัดป่าที่พระอาจารย์มั่นไปพำนักอยู่ในละแวกนั้น ในระหว่างพรรษา ปี 2492 พระอาจารย์มั่นได้อาพาธ คณะศิษย์ได้นำท่านมารักษาที่วัดป่าสุทธาวาสในตัวเมืองสกลนคร พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ไปคอยดูแลพระอาจารย์มั่นอยู่ด้วย พระอาจารย์มั่นได้มรณภาพในปีนี้เอง และได้ทำการประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยไปในวันที่ 31 ม.ค. 2493
หลังจากเสร็จงานศพพระอาจารย์มั่นแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางไปแสวงหาความวิเวกทางจังหวัดนครพนมอีก โดยมีจุดมั่นอยู่บนภูวัว พรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ ออกพรรษาแล้วได้เดินทางจากสกลนครมาอุดรธานี แล้วมากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดจันทบุรี พร้อมกับพระอาจารย์กงมา โดย พระอาจารย์วิริยังค์ เป็นผู้นิมนต์มาพักที่วัดดำรงธรรม อ.ขลุง จ.จัทนบุรี วัดเขาหนองชิ่ม อ.แหลมสิงห์ และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เป็นเวลา 3 เดือนจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ โดยทางเรือ ถึงกรุงเทพฯ แล้วได้พักที่วัดนรนารถฯ เทเวศ - วัดอโศการาม สมุทรปราการ พระอาจารย์ลี ได้พาพระอาจารย์ฝั้นไปลพบุรี และนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีด้วย แล้วจึงกลับสกลนคร และนับตั้งแต่นั้นมาพระอาจารย์ฝั้นก็ได้เดินทางมากรุงเทพฯ บ่อยครั้ง
ปี พ.ศ. 2495 พระอาจารย์ฝั้นได้ไปสร้างสถานวิเวก ไว้ที่ถ้ำเป็ด อ.ส่องดาว ใกล้กับวัดถ้ำอภัยดำรงธรรมของพระอาจารย์วัน อุตตโม
ปี พ.ศ. 2496 ได้มิมิตเห็นถ้ำอยู่แห่งหนึ่งบนภูพาน พอออกพรรษาท่านก็ได้เดินทางไปหาสถานที่แห่งนั้น และก็ได้พบตามที่ได้นิมิตไว้ สถานที่แห่งนั้นก็คือ "ถ้ำขาม" บนภูพานนั่นเอง พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักบนถ้ำขามและสร้างเป็น "วัดถ้ำขาม" ในเวลาต่อมา โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา ปัจจุบันวัดถ้ำขามเป็นสถานที่วิเวกอันเพรียบพร้อมไปด้วยทุกสิ่งอย่าง ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามอย่างยิ่ง
นับตั้งแต่นั้นมา พระอาจารย์ฝั้นก็มีภารกิจที่จะต้องดูอยู่ด้วยกัน 3 วัด คือวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดถ้ำขาม โดยท่านได้ไปๆ มา ๆ ทั้ง 3 วัดนี้เป็นประจำ ได้ปฏิบัติศาสนกิจด้วยความมุ่งมั่นและจริงจัง อบรมศิษย์ด้วยความเอาใจใส่ เมตตาธรรมของท่านนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แผ่ถึงทั่วทุกคนที่ไปพบกราบท่าน พระอาจารย์ฝั้นได้ตรากตรำงานหนักมาตลอดชีวิตของท่าน จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้เคยพบเห็นท่านเสมอ
พระอาจารย์ฝั้น ได้สร้างสรรค์ถาวรวัตถุไว้มาก ไม่ใช่เพียงแต่ในด้านศาสนสถานอย่างเดียวเท่านั้น ในด้านสังคมก็ได้ช่วยสร้างไว้มาก อย่างเช่น ตึกสงฆ์อาพาธของโรงพยาบาลสกลนคร หรือ โรงพยาบาลพรรณานิคม ที่ได้ใช้ชื่อของท่านเป็นชื่อโรงพยาบาลด้วย ก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี ก็ด้วยบารมีของท่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพร้อมทั้งทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าทุกพระองค์ ก็ได้เคยเสด็จฯ ไปนมัสการพระอาจารย์ฝั้นอยู่เสมอ ได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับพระอาจารย์ฝั้นอย่างใกล้ชิด ทรงสนทนาธรรม ตรัสถามข้อสงสัยด้วยความสนพระทัยอย่างยิ่ง เมื่อโอกาสใดที่พระอาจารย์ฝั้นเดินทางมากรุงเทพฯ ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ก็เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมพระอาจารย์ฝั้นถึงวัดที่พระอาจารย์ฝั้นมาพักทุกครั้ง
เดือนกันยายน 2519 พระอาจารย์ฝั้นได้เกิดอาพาธ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงได้นิมนต์ท่านเข้าการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รักษาอยู่ระยะหนึ่งท่านก็ขอกลับวัดป่าอุดมสมพร สกลนคร อาการบางอย่างก็หายเป็นปกติ แต่ก็ได้มีโรคอื่นแทรกซ้อนมา จนกระทั่งเมื่อเดือน ธันวาคม 2519 อาการของโรคหัวใจของท่านก็กำเริบ วันที่ 27 ธ.ค.2519 พระอาจารย์ฝั้นเกิดอาการช็อค ทางคณะแพทย์ได้นิมนต์ให้ท่านเข้ารับการรักษาตัว ที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่ท่านไม่ยอมไป คณะแพทย์หลวงได้ทราบข่าวจึงได้ขอนิมนต์ท่าน ให้เข้ารับการรักษาที่กรุงเทพฯ ท่านก็ไม่ยอมเช่นกัน ยังคงพักรักษาอยู่แต่ที่วัดป่าอุดมสมพรตลอดมา โดยมีคณะแพทย์หมุนเวียนกัน ไปเผ้าอาการตลอดเวลา จนกระทั่งถึง วันที่ 4 มกราคม 2520 เวลา 19.50 น. พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ละขันธ์ธาตุไปด้วยอาการสงบ
ข่าวมรณภาพของพระอาจารย์ฝั้น ได้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว สาธุชนผู้มีความเคารพในตัวท่านได้หลั่งไหลไปคารวะศพท่านที่วัดอย่างเนืองแน่น ต่างอาลัยอาวรณ์ ในพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นที่รวมแห่งจิตใจของศิษย์ทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงทราบข่าวก็ได้เสด็จฯ ไปยังวัดป่าอุดมสมพร เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 20 ทรงสรงน้ำศพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ พระราชทานหีบทองทึบประกอบศพด้วย
ศพของพระอาจารย์ฝั้นได้ตั้งบำเพ็ญกุศลจากวันนั้นจนถึงบัดนี้
21 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาพระราชทานเพลิงศพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร เป็นกรณีพิเศษโดยส่วนพระองค์
ผู้ชม : 1597